จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์
ข้อพึงปฏิบัติของนักลงทุนสัมพันธ์
- ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
- เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นอย่างครบถ้วนและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
- เปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและสอบถามข้อมูลได้
- ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียเป็นที่ตั้ง
- รักษาความลับของบริษัทและไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตน
- ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่และมีความเป็นมืออาชีพ
- หมั่นศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน
- ปฏิบัติตามแนวทางการไม่รับนัดในช่วงใกล้ประกาศงบการเงินและแนวปฏิบัติในการซื้อขายหุ้นที่บริษัทได้กำหนดไว้
ข้อมูลทางการเงิน
งบการเงิน
คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ
การวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ (สิ้นสุดวันที่
31 ธันวาคม 2562)
(1) ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจ
ธุรกิจลิสซิ่งในประเทศไทยแบ่งลักษณะผู้ประกอบการออกได้เป็น
2 กลุ่มหลัก
คือ กลุ่มที่มุ่งเน้นให้เช่าทรัพย์สินแบบสัญญาเช่าทางการเงิน (Financial
Lease) และสัญญาเช่าซื้อกับกลุ่มที่มุ่งเน้นการให้เช่าแบบสัญญาเช่าดำเนินงาน
(Operating Lease) โดยบริษัท พรีเมียร์ อินเตอร์ ลิซซิ่ง
จำกัด จัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจบริการสัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของธุรกิจ การดำเนินงานของบริษัท พรีเมียร์
อินเตอร์ ลิซซิ่ง จำกัด ในปี 2562
มุ่งเน้นการให้บริการรูปแบบต่างๆ ที่มีมาตรฐานสอดคล้องความต้องการของคู่ค้า
สร้างคุณค่าเพิ่มในการให้บริการ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้งาน
บริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานเพื่อนำไปเป็นแผนพัฒนาให้กับผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งเสริมทุกกิจกรรมที่เสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน
โดยเริ่มจากธุรกิจที่ให้บริการ ณ ปัจจุบันเป็นต้นแบบความปลอดภัย อาทิ
กลุ่มรถเช่าองค์กรที่ร่วมผลักดันความปลอดภัยด้วยการติดตั้งระบบตรวจสอบพร้อมรายงานพฤติกรรมการขับขี่
การให้บริการต้นแบบพนักงานผู้ช่วยผู้บริหาร (Personal Accelerator) การพัฒนาระบบและการจัดเก็บข้อมูลงานลูกค้าสัมพันธ์สู่ระบบออนไลน์ เป้าหมายการจัดการกลยุทธ์การให้บริการของธุรกิจยานพาหนะให้เช่า
จึงมุ่งเน้นลูกค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น สอดคล้องกับงานบริการที่เพิ่มขึ้น
ธุรกิจประกันวินาศภัย ในปีที่ผ่านมาพบว่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์และเบี้ยประกันเบ็ดเตล็ด มีอัตราการเติบโต แนวโน้มการแข่งขันในตลาดประกันภัยยังคงรุนแรง จากช่องทางการขายใหม่ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขายผ่านเว็บไซด์ แอปพลิเคชั่นมือถือ หรือร้านสะดวกซื้อ การรักษาฐานลูกค้าต่ออายุกรมธรรม์และขยายผลิตภัณฑ์ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ การจัดการกลยุทธ์ในการแข่งขัน มุ่งเน้นในการให้บริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ จัดหาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า และคัดเลือกบริษัทประกันภัยที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และทำงานร่วมกับกรมการประกันภัยเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งลูกค้า คู่ค้า และบริษัทตัวแทนประกันภัย
หนี้สินผลเสียหายจากคดีภาษีอากรของกิจการร่วมค้า พีอี-เพทแลน
ตามที่เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1 และข้อ 21 บริษัทฯมีหนี้สินภาษีที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการชำระให้แก่กรมสรรพากรจำนวน 242 ล้านบาท จากการที่บริษัทฯถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยร่วมจากกรมสรรพากรให้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มของปี 2544 และ 2545 พร้อมทั้งเงินเพิ่มจำนวนรวมทั้งสิ้น 252 ล้านบาท แทนกิจการร่วมค้าบริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์ และบริษัท ล็อควูด แอนดรูส์ แอนด์นิวแนม อิงค์ (กิจการร่วมค้า พีอี-เพทแลน) ซึ่งบริษัทฯเคยเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมลงทุนในการก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครและได้พ้นจากการเป็นผู้ร่วมค้าแล้วตั้งแต่ปี 2543 และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษากลับคำตัดสินของศาลภาษีอากรกลาง ส่งผลให้บริษัทฯต้องร่วมชำระหนี้ภาษีอากรให้แก่กรมสรรพากร เนื่องจากบริษัท พรีเมียร์ อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นจำเลยร่วมในฐานะผู้ถือหุ้นของกิจการร่วมค้าซึ่งได้รับโอนสัดส่วนการร่วมลงทุนจากบริษัทฯในปี 2543 อยู่ในสถานะล้มละลาย บริษัทฯจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายชำระค่าภาษีอากรนี้ให้แก่กรมสรรพากรตามคำพิพากษา บริษัทฯได้จ่ายชำระค่าภาษีอากรนี้ให้แก่กรมสรรพากรแล้วเป็นจำนวน 10 ล้านบาท คงเหลือหนี้ภาษีอากรส่วนที่เหลือจำนวน 242 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 บริษัทฯได้รับหมายบังคับคดีแจ้งการยึดหุ้นสามัญของบริษัท พรีเมียร์ อินเตอร์ ลิซซิ่ง จำกัด จำนวน 48,339,869 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 75.53 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท พรีเมียร์ อินเตอร์ ลิซซิ่ง จำกัด เพื่อนำไปขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 สำนักงานบังคับคดีแพ่งประกาศนัดขายทอดตลาดหุ้นดังกล่าว ซึ่งจากการขายทอดตลาดหุ้นรวมทั้งสิ้น 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 โดยในครั้งสุดท้ายที่จัดให้มีขึ้นในวันที่ 29 มกราคม 2563 ไม่ปรากฏว่ามีผู้เสนอซื้อหุ้นดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ หุ้นดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯจนกว่าจะมีบุคคลอื่นมาซื้อจากการขายทอดตลาดและการดำเนินงานของบริษัทย่อยยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทฯ ดังนั้น ณ ปัจจุบัน บริษัท พรีเมียร์ อินเตอร์ ลิซซิ่ง จำกัด จึงยังคงมีฐานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัท
คดีแพ่งอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน)
ยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลล้มละลายกลางในฐานะหุ้นส่วนของกิจการร่วมค้าบริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์
จำกัด (มหาชน) บริษัท เพท เอ็นจิเนียส์ อิงค์ และบริษัท ล็อควูด แอนดรูส์
แอนด์นิวแนม อิงค์ (กิจการร่วมค้า พีอี-เพทแลน) ให้ร่วมรับผิดชอบในค่าผลงานที่กิจการร่วมค้า
พีอี-เพทแลนค้างชำระตามสัญญาจ้างเหมาช่วงงานก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่ปี 2544
ถึง 2546 เป็นเงินต้นจำนวน
650.79 ล้านบาทและดอกเบี้ยจำนวน 653.01 ล้านบาท ตามที่เปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 4.4 นั้น
ต่อมาในเดือนธันวาคม
2560
ศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาให้บริษัทฯชำระเงินแก่บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ
จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 478,774,424.90 บาท
พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นดังกล่าว
นับจากวันที่ 23 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
บริษัทฯได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางในเดือนมิถุนายน
2561 และในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้อ่านคำพิพากษาเห็นพ้องด้วยบางส่วนตามคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง
โดยได้มีคำพิพากษาแก้เป็นว่าให้บริษัทฯชำระเงินให้แก่บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ
จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 837,221,091.68 บาท
พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 473,466,980.61
บาท นับจากวันที่ 3 เมษายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
เมื่อวันที่ 3
ตุลาคม 2562 บริษัทฯได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา
เพื่อขออนุญาตฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษดังกล่าวแล้ว
ปัจจุบันคำร้องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ
ทนายความและคณะทำงานร่างคำขออนุญาตฎีกาและฎีกามีความเชื่อมั่นในประเด็นข้อต่อสู้และมีความเห็นว่าศาลฎีกาน่าจะรับฎีกาไว้พิจารณาและมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
บริษัทฯจึงไม่ได้บันทึกประมาณการหนี้สินตามคำพิพากษาดังกล่าวในงบการเงิน
ในช่วงการพิจารณาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด
(มหาชน) ได้นำยึดหุ้นสามัญของบริษัท พรีเมียร์ อินเตอร์ ลิซซิ่ง จำกัด จำนวน 15,660,129
หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 24.47 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท
พรีเมียร์ อินเตอร์ ลิซซิ่ง จำกัด เพื่อนำไปขายทอดตลาดต่อไป และศาลล้มลายกลางมีคำสั่งให้นำหุ้นจำนวนนี้ไปขายทอดตลาดรวมกับหุ้นที่ถูกยึดในดคีภาษีอากร โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม
2562
สำนักงานบังคับคดีแพ่งประกาศนัดขายทอดตลาดหุ้นทั้งสองคดีพร้อมกัน
ซึ่งจากการขายทอดตลาดหุ้นดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 4
ครั้งตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 โดยในครั้งสุดท้ายที่จัดให้มีขึ้นในวันที่
29 มกราคม 2563
ไม่ปรากฏว่ามีผู้เสนอซื้อหุ้นดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้
หุ้นดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯจนกว่าจะมีบุคคลอื่นมาซื้อจากการขายทอดตลาดและการดำเนินงานของบริษัทย่อยยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทฯ
ดังนั้น ณ ปัจจุบัน บริษัท พรีเมียร์ อินเตอร์ ลิซซิ่ง จำกัด
จึงยังคงมีฐานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัท
(2) ผลการดำเนินงาน
1. รายได้จากค่าเช่าและการบริการ
รายได้จากค่าเช่าและบริการในปีมีจำนวน
617.49 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 79.06
ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 35 อันเนื่องจากการจัดการกลยุทธ์การให้บริการของธุรกิจยานพาหนะให้เช่าโดยมุ่งเน้นลูกค้าที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นสอดคล้องกับงานบริการที่เพิ่มขึ้น
ส่งผลให้จำนวนยานพาหนะให้เช่ามีจำนวนลดลง ขณะเดียวกันอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2562
สูงกว่าปีก่อน
2. รายได้อื่นจากการจำหน่ายยานพาหนะให้เช่าและอุปกรณ์
บริษัทย่อยมีกำไรจากการจำหน่ายยานพาหนะและอุปกรณ์
จำนวน 12.23
ล้านบาท กำไรลดลงจากปีก่อนจำนวน 23.63 ล้านบาท
เนื่องจากในปีปัจจุบันยานพาหนะที่จำหน่ายส่วนใหญ่ไม่มีการตั้งด้อยค่า
ซึ่งบริษัทย่อยได้พิจารณาตั้งสำรองด้อยค่าตั้งแต่ปี 2557 และ
2558 จึงส่งผลให้ในปี 2562 รายการโอนกลับด้อยค่ายานพาหนะให้เช่าที่จำหน่ายมีจำนวนน้อยกว่าปีก่อน
3. ค่าใช้จ่ายในการบริหาร
ค่าใช้จ่ายในการบริหารมีจำนวน
135.88 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3.03 ล้านบาท
เกิดจากรายการค่าเช่าสำนักงานลดลงจำนวน 1.35 ล้านบาท
และค่าใช้จ่ายทางกฎหมายลดลงจำนวน 1.54 ล้านบาท
4. ค่าใช้จ่ายทางการเงิน
ค่าใช้จ่ายทางการเงินมีจำนวน 56.93 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 13.21 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณยานพาหนะให้เช่าลดลงส่งผลให้หนี้สินตามสัญญาเช่าทางการเงินลดลง
(3) ฐานะการเงิน
สินทรัพย์รวมจำนวน 1,512.33 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 316.51 ล้านบาท
ส่วนใหญ่มาจากรายการยานพาหนะให้เช่าและอุปกรณ์ลดลง
จำนวน 299.02 ล้านบาท โดยในงวดมียอดซื้อเข้าน้อยกว่าปริมาณจำหน่ายออก ในปี 2562 ยอดซื้อเข้าจำนวน 180.55 ล้านบาท
ยอดจำหน่ายออกสุทธิจากค่าเสื่อมราคาจำนวน 271.59 ล้านบาท
ค่าเสื่อมราคาในงวดมีจำนวน 217.18 ล้านบาท
และรายการโอนกลับด้อยค่าจากการจำหน่ายมีจำนวน 9.20 ล้านบาท
เงินลงทุนชั่วคราวเพิ่มขึ้นจำนวน
16.58 ล้านบาท ในขณะที่เงินลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขายลดลง 31.40
ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดการเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ
ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นลดลง
24.61 ล้านบาท
ยอดที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้ของธุรกิจให้เช่ายานพาหนะ
สินทรัพย์ภาษีเงินได้ในงวดปัจจุบัน
หมายถึงภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายของปี 2562 ซึ่งมีจำนวน
28.75 ล้านบาท และจากการจัดประเภทรายการภาษีที่ถูกหัก
ณ ที่จ่ายปี 2561 เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน จำนวน
32.75 ล้านบาท ทำให้สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นเพิ่มขึ้นจำนวน
31.93 ล้านบาท
หนี้สินรวม มีจำนวน 1,384.07
ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 345.94 ล้านบาท
รายการหลักมาจากหนี้สินตามสัญญาเช่าทางการเงินลดลง จำนวนรวม 348.07 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณยานพาหนะให้เช่าลดลงส่งผลให้หนี้สินตามสัญญาเช่าทางการเงินลดลง
เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่นลดลงจำนวน
11.07 ล้านบาท
มาจากเจ้าหนี้ของธุรกิจให้เช่ายานพาหนะ
สำรองผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงานเพิ่มขึ้นจำนวน
7.67 ล้านบาท
จากการรับรู้ผลการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายแรงงานทำให้บริษัทย่อยรับรู้หนี้สินเพิ่มขึ้น
หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีเพิ่มขึ้น
10.08 ล้านบาท เป็นการคำนวณผลแตกต่างของมูลค่าสินทรัพย์
หนี้สินในทางบัญชีที่แตกต่างกับมูลค่าทางภาษี
ในส่วนของรายการสินทรัพย์และหนี้สินที่เกิดจากสัญญาเช่าทางการเงินเป็นหลัก
หนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น
ลดลงจำนวน 3.11 ล้านบาท จากสิทธิการเช่าลดลงจำนวน 1.0 ล้านบาท และเงินมัดจำตามสัญญาเช่ายานพาหนะลดลง
2.11 ล้านบาท
ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
มีจำนวน 128.26 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 29.43 ล้านบาท
ซึ่งมาจากในงวดมีกำไรสำหรับปี จำนวน 27.93 ล้านบาท
และจากการคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยใหม่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายแรงงานทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น
3.22 ล้านบาท
รายการองค์ประกอบอื่นของส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจำนวน 1.72 ล้านบาท
เกิดจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขาย
(4) สภาพคล่องและแหล่งเงินทุน
เงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานมาจากรายได้ของธุรกิจให้เช่ายานพาหนะ ธุรกิจนายหน้าประกันภัย และธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นหลัก กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานในปี มีจำนวน 233.68 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 42.90 ล้านบาท เนื่องจากการดำเนินงานที่มีรายได้ลดลง
เงินสดจากกิจกรรมการลงทุน มีจำนวน 274.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 81.44 ล้านบาทโดยหลักมาจากการจำหน่ายยานพาหนะให้เช่าที่ครบกำหนดสัญญาเช่า
เงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินในงวดใช้ไปจำนวน 509.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 35.01 ล้านบาท จากการจ่ายชำระหนี้ตามกำหนดของสัญญาเช่าทางการเงิน
(5) ปัจจัยหรือเหตุการณ์ที่จะมีต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต
กรณีของการดำรงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีหนังสือขอให้บริษัทชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาจาการที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท
และเร่งดำเนินการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบให้ครบถ้วน
เพื่อไม่ให้เข้าข่ายถูกเพิกถอนหลักทรัพย์
ซึ่งตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน
พ.ศ. 2542
บริษัทอาจเข้าข่ายถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563
หากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินเป็นเวลาสามปีติดต่อกัน
และตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการรับหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2558 หากบริษัทไม่สามารถดำเนินการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบให้ครบถ้วนได้ ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัทได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องสถานะของบริษัทต่อตลาดหลักทรัพย์แห่ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563
ในประเด็นเหตุที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทมาจากปัจจัยเรื่องคดีความที่บริษัทไม่สามารถควบคุม
หรือหาแนวทางเพื่อมาแก้ไขได้ (อ้างถึงรายงานของผู้สอบบัญชี
วรรคเกณฑ์การไม่แสดงความเห็น) บริษัทจึงได้เพียงแต่รอผลว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาเป็นอย่างไร
ส่วนการสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบนั้น
การสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมไม่สามารถดำเนินการได้โดยง่าย
ด้วยเหตุเรื่องของสถานะของบริษัทที่อาจเข้าข่ายถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
อันเนื่องมาจากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทเป็นเวลาสามปีติดต่อกัน
(ปี 2560
2561 และ 2562) ด้วยเหตุตามที่กล่าวข้างต้น
ทั้งนี้การดำรงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนของบริษัท
ไม่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย